ประกาศรับสมัครงาน

สถิติผู้เยี่ยมชม

439658

ดีเดย์ 6 มิถุนา...สภาเกษตรกรฯ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560

            เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน เวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา นายบัญชา อรุณเขต ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ มอบหมายให้นายมนตรี ฉัตรทอง หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วยตัวแทน กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังจังหวัดอุตรดิตถ์ เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีนายสุรชัย มณีประกร ปลัดจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นผู้แทนรับยื่นหนังสือดังกล่าว เพื่อขอให้ทางรัฐบาลพิจารณา ขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2560 ที่มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา

            โดย นายมนตรี เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังที่จะได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย ของ จ.อุตรดิตถ์ มีจำนวนทั้งสิ้น 547 ราย พื้นที่กระชัง จำนวน 78,671.50 ตารางเมตร ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปี รวมจำนวนทั้งสิ้น 7,867,150 บาท หากต้องถูกปรับ จะต้องเสียค่าปรับสูงเป็นเงินรวมทั้งสิ้น จำนวน 78,671,500 บาท ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ทราบกฎหมายมาก่อน เนื่องจากไม่มีการประชาสัมพันธ์จากเจ้าท่าที่รับผิดชอบในในพื้นที่ เกษตรกรจึงไม่ได้ขออนุญาตสร้างกระชังปลาในลำน้ำแม้แต่รายเดียว เพิ่งจะมาทราบเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้แล้ว ซึ่งมีบทบัญญัติให้ผู้ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งล่วงล้ำในแหล่งน้ำ (แม่น้ำ ลำคลอง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ ทะเลในน่านน้ำไทย) กับกรมเจ้าท่า ให้ไปขึ้นทะเบียนกับกรมเจ้าท่าภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2560 นี้ หรือได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว แต่ก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำผิดไปจากที่ได้รับอนุญาต ต้องมีโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ในอัตราที่ค่อนข้างสูง รวมทั้งต้องเสียค่าธรรมเนียมเป็นรายปีทุกปีต่อไปอีก เป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างมากสำหรับเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยและยึดการประกอบอาชีพดังกล่าวเป็นวิถีชีวิตไปแล้ว ไม่สามารถจะไปประกอบอาชีพอื่นได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่ริมน้ำอีกด้วย

            ซึ่งในวันนี้ สภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ ในฐานะตัวแทนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว จึงขอยื่นหนังสือเพื่อขอให้รัฐบาลได้โปรดพิจารณาขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติฯ ออกไปอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้เกษตรกรซึ่งไม่เคยทราบมาก่อนเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ได้มีเวลาปรับตัว และสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ก่อน และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันทบทวนและปรับปรุงกฎหมายให้มีความเหมาะสม ทั้งในเรื่องของค่าปรับทางอาญา ค่าปรับก่อนออกใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมรายปี ในอัตราที่เหมาะสมกับรายได้ที่เกษตรกรได้รับจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยพิจารณาประกอบกับต้นทุนการเลี้ยงของเกษตรกรที่แท้จริง

ยนพรบ

ยนพรบ1