ประกาศรับสมัครงาน

สถิติผู้เยี่ยมชม

443467

สภาเกษตรกรฯ MOU สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร 4 ภาค ถ่ายทอดความรู้วิชาชีพเกษตรกรรมสู่ทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่

              

         MOU1

            นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นประธานและสักขีพยานในการลงนามบันทึกความร่วมมือการถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรและทายาทเกษตรกร ในการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งในวิชาชีพแก่เกษตรกร สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ระหว่างว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ นายพรณรงค์ วรศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายประจักษ์ ทาสี

ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคเหนือ นายคัมภีร์ สายะสนธิ ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคกลาง และนายวิศวะ คงแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคใต้ ณ ห้องประชุมพึ่งบุญ อาคารสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรุงเทพฯ

         นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า จากสภาพการณ์ของประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คือการมีประชากรสูงอายุ 20 % ของประชากรทั้งหมด ส่วนตั้งแต่ปี 2579 ประชากรไทยจะมีน้อยกว่าปัจจุบันและจะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุ 30% เป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด ซึ่งจะเกิดการสร้างภาระพึ่งพิงต่อวัยแรงงานและภาครัฐ ที่ต้องจัดสวัสดิการให้มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ และขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในภาคการเกษตร จากผลการศึกษาของสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เรื่อง “ปัญหาและความต้องการของเกษตรกร” เมื่อปี 2557 พบว่า เกษตรกรมีอายุเฉลี่ย 54 ปี และเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่ศึกษาเรื่อง “แรงงานกับการเปลี่ยนแปลงของภาคการเกษตรไทย” พบว่า แรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แรงงานรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตรน้อยลง เนื่องจากทัศนคติของแรงงานรุ่นใหม่เห็นว่า อาชีพเกษตรกรรมเป็นงานที่หนัก ราคาผลผลิตไม่แน่นอน ต้องพึ่งพาธรรมชาติ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงสูง ส่งผลให้อายุเฉลี่ยของแรงงานภาคเกษตรสูงขึ้น ประสิทธิภาพการผลิตในอนาคตมีแนวโน้มลดลง

              ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ดังนั้นในปี 2560 สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้กำหนดโครงการยุวเกษตรกรหรือทายาทเกษตรกร เพื่อส่งเสริมให้คนไทยรุ่นใหม่ได้เรียนรู้การเกษตรในสถานศึกษาและสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อการคงไว้ซึ่งประเทศเกษตรกรรม โดยมีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการ 101 โรงเรียน นักเรียน 7,000 คนได้เรียนรู้และลงมือทำการเกษตร รวมทั้งมีเกษตรกรรุ่นใหม่จำนวน 932 คนร่วมโครงการ ซึ่งเห็นว่า หากมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาจำนวนเกษตรกรในอนาคต นอกจากนั้นเพื่อการส่งเสริมเพิ่มความสำเร็จให้คนไทยรุ่นใหม่สนใจทำการเกษตร จึงได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั่วประเทศ 47 แห่ง เพื่อร่วมมือกันสนับสนุนให้สถาบันอาชีวศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ อบรม เพื่อพัฒนาเกษตรกรและบุตรหลานให้ได้พัฒนาวิชาชีพ และการศึกษาด้านอาชีวเกษตร ระยะเวลา 4 ปี ซึ่งหากทั้งภาครัฐและภาคเกษตรกรร่วมมือกัน จะสามารถดำรงรักษาอาชีพการเกษตรให้ไทยยังคงเป็นประเทศเกษตรกรรมต่อไป